ห้องข่าว

   
about banner

News

ผู้ถือหน่วยกองทุน JASIF อนุมัติลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 มูลค่ารวมไม่เกิน 3.8 หมื่นล้านบาท เข้าซื้อทรัพย์สินโครงสร้างพื้นฐานประเภทใยแก้วนำแสงจำนวนไม่เกิน 7 แสนคอร์กิโลเมตร หนุนการเติบโตต่อเนื่อง พร้อมขยายสัญญาเช่าหลักของทรัพย์สินเดิม สร้างความมั่นคงรายได้ค่าเช่าในระยะยาว

Backสิงหาคม 26, 2562

กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ต จัสมิน (‘กองทุนฯ’ หรือ ‘JASIF’) ได้รับไฟเขียวจากผู้ถือหน่วยเข้าลงทุนในทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภททรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสงเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จาก‘ทริปเปิลที บรอดแบนด์’ มูลค่ารวมไม่เกิน 38,000 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนรวมไม่เกิน 24,629 ล้านบาท เตรียมเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านหน่วย แก่ผู้ถือหุ้นเดิมที่มีรายชื่อในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน เพื่อรองรับการลงทุนเพิ่มเติมในครั้งนี้ พร้อมขยายเวลาสัญญาเช่าหลักของสินทรัพย์เดิม ช่วยสร้างความมั่นคงของรายได้จากค่าเช่าที่ยาวนานขึ้น

นายพรชลิต พลอยกระจ่าง รองกรรมการผู้จัดการ Head of Real Estate & Infrastructure Investment บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม บัวหลวง จำกัด หรือ กองทุนบัวหลวง ในฐานะบริษัทจัดการกองทุนฯ หรือ Jasmine Broadband Internet Infrastructure Fund (JASIF) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562 ที่ผ่านมา ที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหน่วยลงทุนกองทุนรวมฯ ครั้งที่ 1/2562 มีมติอนุมัติให้กองทุนฯ เข้าลงทุนในกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภททรัพย์สินใยแก้วนำแสงเพิ่มเติมจำนวนไม่เกิน 700,000 คอร์กิโลเมตร และจัดหาผลประโยชน์จากทรัพย์สินที่ลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 จากบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) หรือ TTTBB มูลค่ารวมทั้งสิ้นไม่เกิน 38,000 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) และอนุมัติเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนฯ รวมไม่เกิน 24,629 ล้านบาท และขอสินเชื่อจากสถาบันการเงินไม่เกิน 18,160 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนส่วนหนึ่งสำหรับซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใหม่และใช้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการเข้าซื้อทรัพย์สินในครั้งนี้

การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 นี้ เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกองทุนฯ ที่ต้องการเข้าลงทุนในกิจการโครงสร้างพื้นฐานประเภทโทรคมนาคม ที่มีศักยภาพในการสร้างผลตอบแทนเพื่อเป็นรายได้ให้แก่กองทุนฯ และกองทุนฯ สามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในระยะยาว ประกอบกับการคาดการณ์แนวโน้มและโอกาสขยายตัวของธุรกิจบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตในประเทศไทยยังมีอยู่มาก ดังนั้น การลงทุนในทรัพย์สินส่วนเพิ่มดังกล่าว จะทำให้กองทุนฯ มีรายได้และผลตอบแทนเพิ่มขึ้นและสามารถจ่ายผลตอบแทนให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนในระยะยาวได้มากขึ้น

สำหรับทรัพย์สินใหม่ที่กองทุนฯ จะเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 เป็นการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานประเภททรัพย์สินเส้นใยแก้วนำแสง (Optical Fiber Cable หรือ FOC) จำนวนไม่เกิน 700,000 คอร์กิโลเมตร ซึ่งเป็นสินทรัพย์ใหม่ที่พร้อมใช้งานและถูกสร้างขึ้นมาเพียง 1-3 ปี จากอายุการใช้งานเฉลี่ยอยู่ที่ 35-40 ปี หากมีการบำรุงรักษาอย่างดี

นายพรชลิต กล่าวเพิ่มเติมว่า แหล่งเงินทุนที่ใช้ลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 มาจากการเพิ่มทุนจดทะเบียนของกองทุนฯ จำนวนรวมไม่เกิน 24,629 ล้านบาท ส่งผลให้ทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นจากเดิมอยู่ที่ 54,183.8 ล้านบาท เพิ่มเป็น 78,812.8 ล้านบาทบาท โดยจะออกและเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่จำนวนไม่เกิน 2,500 ล้านหน่วย แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนเดิมที่มีรายชื่อปรากฏในสมุดทะเบียนผู้ถือหน่วยลงทุนตามสัดส่วนการถือหน่วยลงทุน ซึ่งกองทุนฯจะดำเนินการกำหนดอัตราส่วนใช้สิทธิจองซื้อในการเสนอขายหน่วยลงทุนใหม่ต่อไป ส่วนที่เหลือจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงินอีกไม่เกิน 15,500 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นเงินทุนส่วนหนึ่งสำหรับซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใหม่ นอกจากนั้นกองทุนฯ อาจกู้ยืมเงินจากสถาบันการเงินในประเทศอีกไม่เกิน 2,660 ล้านบาท เพื่อใช้ชำระภาษีมูลค่าเพิ่มจากการซื้อกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินใหม่

นอกจากนี้ ที่ประชุมฯ ยังได้อนุมัติให้กองทุนฯ ขยายอายุสัญญาเช่าหลักของทรัพย์สินเดิมของกองทุนฯ ได้แก่ เส้นใยแก้วนำแสง (Optical Fiber Cable หรือ OFC) จำนวน 784,400 คอร์กิโลเมตร โดยมี TTTBB เป็นคู่สัญญา จากเดิมที่จะหมดสิ้นสุดอายุสัญญาเช่าในวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2569 ออกไปเป็น 29 มกราคม 2575 ทำให้กองทุนฯ มีความมั่นคงของกระแสรายได้จากค่าเช่าทรัพย์สินบางส่วนที่กองทุนฯ ลงทุนอยู่ในปัจจุบันได้ยาวนานขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์แก่กองทุนฯ และผู้ถือหน่วยลงทุนทุกราย

นายพิเชษฐ สิทธิอำนวย กรรมการผู้อำนวยการ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน กล่าวว่า การเข้าลงทุนเพิ่มเติมครั้งที่ 1 ของ JASIF จะทำให้กองทุนฯ มีขนาดทรัพย์สินและมูลค่าตลาดที่เพิ่มขึ้น จากการขยายโครงข่ายเส้นใยแก้วนำแสงที่มีพื้นที่ให้บริการเพิ่มเติม ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 77 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อรองรับความต้องการใช้งานอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ในประเทศไทยที่เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นโอกาสที่ดีของผู้ถือหน่วยเดิมที่จะลงทุนเพิ่มเพื่อรับโอกาสผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการเช่าระยะยาวของกลุ่มผู้เช่าหลักอย่าง TTTBB ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์รายใหญ่ของไทย นอกจากนี้ ยังมีการนำทรัพย์สินส่วนที่เหลือไปจัดหาผลประโยชน์เพิ่มเติมจากผู้ประกอบรายอื่น และในระหว่างการหาผู้เช่าทรัพย์สินส่วนเพิ่มทุนใหม่นี้ TTTBB ยังรับประกันรายได้ค่าเช่าให้แก่กองทุนฯ อีกด้วย

ทั้งนี้ หลังจากนี้กองทุนฯ จะดำเนินการกำหนดจำนวนหน่วยลงทุนเพิ่มทุน อัตราส่วนการจัดสรร ราคาเสนอขาย และวันกำหนดรายชื่อผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีสิทธิ์จองซื้อหน่วยลงทุนเพิ่มทุน (Record Date) ต่อไป